Popular Posts

Friday, February 22, 2013

การจ่ายเงินสินค้าด้วยมือถือ


การจ่ายเงินสินค้าด้วยมือถือ
 
สื่อนอกตีข่าวยักษ์ใหญ่ผู้ค้าปลีกระดับโลกอย่างวอลล์มาร์ท, ทาร์เก็ต และเซ่เว่น-อีเลฟเว่นของญี่ปุ่น จะผนึกกำลังเปิดตัวเครือข่ายรับชำระเงินด้วยโทรศัพท์มือถือขึ้นในสหรัฐฯ ซึ่งจะกลายเป็นคู่แข่งโดยตรงของบริการรับชำระเงินที่กูเกิลกำลังพัฒนาอยู่ในขณะนี้ รวมถึงบริษัทรับชำระเงินออนไลน์รายอื่นที่กำลังขยายตลาดมายังโทรศัพท์มือถืออย่างต่อเนื่อง    
 
สำนักข่าววอลล์สตรีทเจอร์นัลระบุว่า นอกจากวอลล์มาร์ท, ทาร์เก็ต และเซเว่นอีเลฟเว่น ยังมีผู้ค้าปลีกรายอื่นรวม 14 รายที่จะผนึกกำลังร่วมกันพัฒนาเครือข่ายรับชำระเงินผ่านอุปกรณ์พกพาหรือโมบายล์เพย์เมนต์ โดยผู้ค้าทั้งหมดจะรวมตัวภายใต้ชื่อ Merchant Customer Exchange หรือ MCX ซึ่งยังอยู่ในช่วงเตรียมการและยังไม่มีการกำหนดวันเริ่มให้บริการหรือแผนการว่าจ้างผู้บริหารใดๆ คาดว่าตัวซีอีโอยังอยู่ระหว่างการสรรหาและยังไม่ชัดเจนว่าแต่ละบริษัทจะต้องลงทุนในระบบรับชำระเงินผ่านโทรศัพท์มือถือมูลค่าเท่าใด          
 
   แม้จะยังไม่มีข้อมูลแน่ชัด แต่นักวิเคราะห์เชื่อว่าระบบ MCX จะเป็นคู่แข่งโดยตรงของบริการรับชำระเงินออนไลน์ของกูเกิล ซึ่งให้บริการในชื่อ"กูเกิลวอลเลต" ตั้งแต่ปีที่แล้วบนอุปกรณ์แอนดรอยด์ คาดว่าเทคโนโลยีของ MCX จะทำให้ผู้ใช้ที่ดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน MCX ลงในสมาร์ทโฟน จะสามารถจ่ายเงินด้วยการ "แตะ" สมาร์ทโฟนเข้ากับเครื่องอ่านที่ติดตั้งในร้านค้าได้เหมือนบริการโมบายล์เพย์เมนต์ทั่วไป   
 
          เหตุที่ทำให้บริษัทค้าปลีกตัดสินใจพัฒนาระบบจ่ายเงินด้วยโทรศัพท์มือถือของตัวเองนั้นเป็นเพราะทิศทางการขยายตัวที่ชัดเจนในอนาคต จุดนี้การสำรวจของบริษัทการ์ทเนอร์พบว่า มูลค่าธุรกรรมการชำระเงินประเภทโมบายล์เพย์เมนต์ทั่วโลกนั้นจะมีมูลค่าทะลุหลัก 6 แสนล้านเหรียญสหรัฐ (ราว 18 ล้านล้านบาท) ในปี 2016 หรืออีก 4 ปีข้างหน้า โดยจะเพิ่มขึ้นหลายเท่าตัวจากมูลค่า 1.72 แสนล้านเหรียญสหรัฐในปีนี้               ทั้งหมดนี้มีความเกี่ยวข้องกับความแพร่หลายของการใช้งานโทรศัพท์มือถือ ซึ่งเป็นจุดสำคัญที่ส่งให้ตลาดโมบายล์เพย์เมนต์ขยายตัวต่อเนื่อง โดยเฉพาะในตลาดอเมริกันที่การสำรวจช่วงเดือนมีนาคมจากบริษัทเฟดเดอรัลรีเซิร์ฟ พบว่าชาวอเมริกันมากกว่า 87% ใช้งานโทรศัพท์มือถือ และกว่าครึ่งหนึ่งเป็นผู้ใช้สมาร์ทโฟน ซึ่งเป็นโทรศัพท์มือถือที่ต่ออินเทอร์เน็ตและใช้งานแอปพลิเคชันได้หลากหลาย
คลิกที่ภาพเพื่อดูขนาดใหญ่ขึ้น
 

บริการ Google Wallet ซึ่งเปิดทดสอบบริการตั้งแต่ปีที่แล้ว กำลังจะมีคู่แข่งเพิ่มขึ้นอีก
ทิศทางตลาดโมบายล์เพย์เมนต์ที่จะขยายตัวแน่นอนในอนาคตทำให้ผู้ค้าปลีกระดับโลกตื่นตัว เพื่อปรับให้ระบบรับชำระเงินบนหน้าร้านสามารถเพิ่มช่องทางหลากหลายได้มากกว่าการใช้เงินสด บัตรเครดิต หรือบัตรเดบิต โดยใช้ชิปในสมาร์ทโฟนเป็นกระเป๋าเงินดิจิตอล ทำให้ผู้ใช้สามารถจ่ายเงินได้สะดวกสบายและไม่ต้องพกพาการ์ดมากมายในกระเป๋าใบหนาอีกต่อไป            
 
 จุดนี้การสำรวจพบว่า ผู้ที่ใช้สมาร์ทโฟนและมีบัญชีธนาคารราว 11% มีแนวโน้มที่จะใช้งานบริการโมบายล์เพย์เมนต์ในปี 2013 ที่จะถึงนี้              
 
นอกจากกูเกิลวอลเลต กลุ่มโอเปอเรเตอร์ระดับโลกก็มีการรวมตัวเพื่อให้บริการกระเป๋าเงินดิจิตอลลักษณะเดียวกัน โดยรวมตัวกันในชื่อบริการไอซิส ซึ่งประกอบด้วยเอทีแอนด์ที, ดอยช์เทเลคอม, ทีโมบายล์ยูเอสเอ เวอร์ไรซอน และโวดาโฟน ซึ่งจะเริ่มเปิดทดสอบบริการภายในฤดูร้อนปีนี้ ที่เมืองซอลต์เลกซิตี และออสติน ในรัฐเทกซัส สหรัฐอเมริกา            
 
 อีกสัญญาณตื่นตัวเรื่องธุรกิจโมบายล์เพย์เมนต์ คือแบรนด์กาแฟยักษ์ใหญ่อย่างสตาร์บัคที่เพิ่งประกาศตัวสนับสนุนธุรกิจโมบายล์เพย์เมนต์เช่นกัน โดยจะเริ่มนำระบบชำระเงินดิจิตอลของบริษัทสแควร์ (Square) มาใช้ในร้านกาแฟของสตาร์บัคมากกว่า 7,000 แห่งในสหรัฐฯ พร้อมกับเทเงินลงทุนราว 25 ล้านเหรียญสหรัฐเพื่อสนับสนุนการพัฒนาเทคโนโลยีโมบายล์เพย์เมนต์ของสแควร์ในระยะยาว            
 
 สแควร์นั้นเป็นบริษัทผลิตแอปพลิเคชันชำระเงินผ่านโทรศัพท์มือถือซึ่งก่อตั้งในปี 2009 โดยแจ็ค ดอร์ซีย์ ผู้สร้างบริการชื่อก้องโลกอย่างทวิตเตอร์ ซึ่งที่ผ่านมาสแควร์ทำให้ร้านค้าขนาดเล็กสามารถซื้อระบบที่เปลี่ยนสมาร์ทโฟนของร้านเป็นระบบรูดบัตรเครดิตในราคาประหยัด โดยจำหน่ายอุปกรณ์อ่านข้อมูลบัตรเครดิตขนาดจิ๋วพร้อมกับแอปพลิเคชันซึ่งร้านค้าสามารถติดตั้งในสมาร์ทโฟนที่มีอยู่       
 
       สำหรับบริการกูเกิลวอลเลต ความคืบหน้าล่าสุดของกูเกิลคือการพยายามเสริมแกร่งบริการเพื่อเตรียมพร้อมให้ผู้ใช้โทรศัพท์มือถือได้ร่วมทดลองใช้งานให้มากที่สุด โดยเพิ่มคุณสมบัติให้รองรับผู้ใช้บัตรเครดิตและเดบิตของทั้งตระกูลวีซ่า มาสเตอร์การ์ด อเมริกันเอ็กซ์เพรส และดิสคัฟเวอร์ ซึ่งเรียกว่าครอบคลุมบัตรเดบิตและบัตรเครดิตหลักทุกแบรนด์ในสหรัฐฯ แล้ว
 
ที่มา ผู้จัดการ

No comments:

Post a Comment